Article Index |
---|
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 |
1 |
2 |
3 |
4 |
All Pages |
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๘๙ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคห้า มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๑ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๗ วรรคสี่ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง หรือเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๓ (๙) วรรคสอง หรือมาตรา ๓๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และถ้าเป็นกรณีกระทำความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๙๐ บริษัทใดไม่ตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่แจ้งผู้ถือหุ้นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๙๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๙๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙๓ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ หรือไม่วางเงินสำรองตามมาตรา ๒๔ หรือไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาทและถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๙๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๙๔/๑ บริษัทใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคห้า มาตรา ๒๗/๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๗/๓ มาตรา ๒๗/๔ หรือมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๙๕ บริษัทใดออกกรมธรรม์ประกันภัย หรือเอกสารประกอบ หรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท
มาตรา ๙๖ บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๙๗ บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๙๘ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗/๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๔๕ หรือคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๖/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๙๙ บริษัทใดไม่ยอมให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูสมุดทะเบียนหรือไม่ยอมคัดสำเนารายการให้ตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๑๐๐ บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการหรือให้คำชี้แจงตามมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๐๑ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๔๘ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๒ บริษัทใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๑๐๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ วรรคห้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๖ ตัวแทนประกันชีวิตผู้ใดทำสัญญาประกันชีวิตโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา ๗๑ วรรคสอง หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทผู้ใดรับเบี้ยประกันภัยโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา ๗๑ วรรคสามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๖/๑ ตัวแทนประกันชีวิตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๐/๑ วรรคสองหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๖/๒ นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑/๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๗ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่มีสำนักงานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต หรือตามที่ได้แจ้งการย้ายสำนักงานไว้ต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๐๘ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดย้ายสำนักงานโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๑๐๙ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง หรือไม่ลงรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๑๑๐ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๑๑ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งเรียกตามมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๔ ในกรณีที่บริษัทใดจงใจกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง หรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งหรือให้ทำคำชี้แจงตามมาตรา ๔๕ กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย
มาตรา ๑๑๔/๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๓/๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๔/๒ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้ใดทำคำรับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือจัดทำรายงานหรือเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๑๕ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๑๕ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ในการดำเนินงานของบริษัท กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในบริษัทกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามบทบัญญัติในหมวด ๑ หมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ หรือหมวด ๗ ของลักษณะ ๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ หรือมาตรา ๒๑๕ หรือมาตรา ๒๑๖ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
(๒) ในการสอบบัญชีของบริษัท ผู้สอบบัญชีผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙
(๓) ผู้ใดเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒)
ให้ถือว่ากรมการประกันภัยเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในความผิดตามมาตรานี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคา หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้ได้รับความเสียหายด้วย ในการนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๑๖ ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๕ และกรมการประกันภัยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนให้กรมการประกันภัยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่าหกเดือนไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหกเดือน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของกรมการประกันภัยก็ได้
ให้กรมการประกันภัยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการประกันภัย เป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง
การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร เมื่อกรมการประกันภัยร้องขอ ให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เมื่ออธิบดีกรมการประกันภัยหรือบุคคลที่อธิบดีกรมการประกันภัยมอบหมายแจ้งให้อธิบดีกรมตำรวจทราบ ให้อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญาหรือของอธิบดีกรมตำรวจที่สั่งตามวรรคสี่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๑๑๗ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ยกเว้นมาตรา ๙๑ และมาตรา ๑๑๖ ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้
คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนและคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน
มาตรา ๑๑๗/๑ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา ๑๑๗ ภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ
มาตรา ๑๑๗/๒ ในกรณีที่บริษัท ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้ใด กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีอำนาจประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามดังกล่าว โดยระบุรายละเอียดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรวมทั้งระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๑๑๘ ให้ถือว่าบรรดาบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าสาขาของบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสาขาของบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการอนุญาต
มาตรา ๑๑๙ บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ บริษัทใดได้ออกหุ้นไว้แล้วโดยไม่เป็นไปตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้บริษัทนั้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๒๐ บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ บริษัทใดมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ให้คงมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยในอัตราที่เป็นอยู่ได้ต่อไป
มาตรา ๑๒๑ ให้บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ที่มีสำนักงานแยกออกจากสำนักงานใหญ่และประกอบการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ยื่นขอรับอนุญาตเป็นสาขาให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือเลิกสำนักงานนั้นเสีย ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และภายในระยะเวลาดังกล่าวมิให้ถือว่าบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ฝ่าฝืนมาตรา ๑๗
มาตรา ๑๒๒ ให้บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ วางหลักทรัพย์ประกันให้ถูกต้องตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงออกตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๒๓ ให้บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ จัดให้มีการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๒๔ มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ได้มาหรือมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และต้องจำหน่ายไปตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าปีนับแต่วันที่เลิกใช้หรือวันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ได้มาหรือมีอยู่ก่อนวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๑๐
มาตรา ๑๒๕ มิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่ผู้ที่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ อยู่แล้วโดยชอบก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๒๖ เงินที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือทายาทของผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งสิทธิเรียกร้องเงินนั้นขาดอายุความแล้วและอยู่ในครอบครองของบริษัทในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทตรวจสอบและนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำความในมาตรา ๘๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๗ บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ บริษัทใดได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทนั้นประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามใบอนุญาตนั้นต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
(๑) หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทต้องวางไว้กับนายทะเบียนและเงินกองทุนที่บริษัทดำรงไว้ตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ต้องเป็นหลักทรัพย์ประกันและเงินกองทุนต่างหากจากหลักทรัพย์ประกันและเงินกองทุนที่บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ต้องวางและดำรงไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย
(๒) ต้องแยกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันวินาศภัยออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันชีวิต
(๓) ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ารัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ นั้นด้วย
ให้บริษัทตามวรรคหนึ่ง จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย โดยรับโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ เป็นของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นให้แล้วเสร็จภายในแปดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหรือปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรานี้ ให้ถือว่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ นั้นเป็นอันสิ้นอายุ
มาตรา ๑๒๘ ในกรณีที่มีเหตุผลอันจำเป็น ให้รัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ และมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ร้องขอโดยแสดงเหตุผลอันจำเป็นให้ปรากฏ แต่ระยะเวลาที่ขยายให้ดังกล่าวต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ และมาตรา ๑๒๓
มาตรา ๑๒๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๓๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ ในขณะเดียวกันแจ้งการเลิกกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งต่อนายทะเบียนภายในสองเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อพ้นระยะดังกล่าวหากผู้ใดมิได้แจ้งการบอกเลิกการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งต่อนายทะเบียน ให้ถือว่าใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตของผู้นั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลาให้แจ้งการบอกเลิกดังกล่าว
มาตรา ๑๓๑ ให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขในการอนุญาตที่ออกหรือกำหนดซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี