SUPREME 24

   
ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ
  บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต โดย คุณรุ่งนภา สดงาม
สนใจร่วมกับทีมงานตัวแทนประกันชีวิต มืออาชีพ บริหารงานโดย คุณรุ่งนภา โทร. 086-3341466

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 - 2

E-mail Print PDF
Article Index
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
1
2
3
4
All Pages

 

หมวด ๔

ตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต

มาตรา ๖๘ ผู้ใดจะกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

คำขอรับใบอนุญาตและใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ให้ระบุด้วยว่าเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใด

มาตรา ๖๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) บรรลุนิติภาวะ

(๒) มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(๓) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

(๕) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) ไม่เป็นนายหน้าประกันชีวิต

(๗) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

(๘) ได้รับการศึกษาวิชาประกันชีวิตจากสถาบันการศึกษาที่นายทะเบียนประกาศกำหนดหรือสอบความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตได้ตามหลักสูตรและวิธีการที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

มาตรา ๗๐ ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๖๙ ซึ่งประสงค์จะเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทนั้นต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทให้ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันชีวิตและหนังสือรับรองว่าผ่านการอบรมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผ่านการอบรมตามหลักสูตรและวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกาศกำหนด

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ผู้ที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใดอยู่แล้ว อาจขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทอื่นอีกได้ คำขอรับใบอนุญาตเช่นว่านี้ ผู้ขอต้องยื่นหนังสือแสดงความยินยอมของบริษัทที่ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันชีวิตอยู่แล้วพร้อมด้วยหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทใหม่ที่ต้องมีข้อความแสดงไว้ด้วยว่าบริษัทใหม่นั้นได้ทราบแล้วว่าผู้ขอเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใดอยู่แล้ว เมื่อนายทะเบียนได้ออกใบอนุญาตแล้วให้แจ้งบริษัทที่เกี่ยวข้องทราบ

หนังสือแสดงความต้องการตามวรรคหนึ่งและหนังสือแสดงความยินยอมตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๗๐/๑ บริษัทต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท

มาตรา ๗๐/๒ ในการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทตัวแทนประกันชีวิตต้องไม่แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ในกรณีที่ตัวแทนประกันชีวิตไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๗๑ ให้ตัวแทนประกันชีวิตมีสิทธิรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

ตัวแทนประกันชีวิตอาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท

นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินอาจรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้ เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท

หนังสือมอบอำนาจของบริษัทตามวรรคสองและวรรคสามให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

หนังสือมอบอำนาจของบริษัท แม้มิได้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดก็ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๗๑/๑ ตัวแทนประกันชีวิตต้องแสดงใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตทุกครั้งที่มีการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิต หรือรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

ตัวแทนประกันชีวิตต้องออกเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

มาตรา ๗๑/๒ นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจจากบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทต้องออกเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่พนักงานของบริษัทซึ่งปฏิบัติหน้าที่รับเบี้ยประกันภัย ณ สำนักงานของบริษัท

มาตรา ๗๒ บุคคลธรรมดาซึ่งจะขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้ ต้องไม่เป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทใด  และให้นำความในมาตรา ๖๙ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๗) และ (๘) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นิติบุคคลอาจขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้เมื่อ

(๑) นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

(๒) กิจการดังกล่าวอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น

(๓) นิติบุคคลนั้นมีพนักงานหรือลูกจ้างที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้เป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าว และ

(๔) นิติบุคคลนั้นต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

มาตรา ๗๓ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๗๒ประสงค์จะเป็นนายหน้าประกันชีวิต ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียน

การออกใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันชีวิต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด

คำขอรับใบอนุญาตและใบอนุญาตตามมาตรานี้ ให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๗๔ นายหน้าประกันชีวิตต้องมีสำนักงานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต ในกรณีย้ายสำนักงาน ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเป็นหนังสือภายในห้าวันนับแต่วันที่ย้าย

มาตรา ๗๕ ให้นายหน้าประกันชีวิตจัดทำสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนด

เมื่อมีเหตุจะต้องลงในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารตามวรรคหนึ่งให้นายหน้าประกันชีวิตลงรายการเกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเช่นว่านั้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุจะต้องลงรายการนั้น

มาตรา ๗๖ ให้นายหน้าประกันชีวิตเก็บรักษาสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนรวมทั้งเอกสารประกอบการลงสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีไว้ที่สำนักงานของตนไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันลงรายการครั้งสุดท้ายในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีนั้น

มาตรา ๗๗ ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในกำหนดสองเดือนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองว่าผ่านการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผ่านการอบรมตามหลักสูตรและวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกาศกำหนด

ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งได้ต่ออายุใบอนุญาตครบสองคราวติดต่อกันแล้ว และได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ใบอนุญาตที่ออกให้ต่อไปมีอายุครั้งละห้าปี

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๗๘ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างในบริษัทใด ให้ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

มาตรา ๗๙ ในกรณีที่บริษัทได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นแล้วก็ดี หรือได้ส่งมอบแก่นายหน้าประกันชีวิตเพื่อส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เอาประกันภัยรายนั้นได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่บริษัทแล้ว

มาตรา ๘๐ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติของนายหน้าประกันชีวิต นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกให้นายหน้าประกันชีวิตมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งสมุดทะเบียน สมุดบัญชี หรือเอกสารใด ๆ หรือให้ส่งรายงานตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนดเพื่อตรวจสอบหรือจะเข้าไปในสำนักงานของบุคคลดังกล่าวในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบดังกล่าวก็ได้ ในการนี้นายหน้าประกันชีวิตต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๘๑ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต เมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่าตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต

(๑) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนหรือคณะกรรมการประกาศกำหนด

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๒ แล้วแต่กรณี

(๔) ดำเนินงานทำให้เกิดหรืออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน

เมื่อนายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แจ้งคำสั่งนั้นไปยังผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

มาตรา ๘๒ ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๘๑ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา ๘๓ ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวน แนะนำ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในต่างประเทศหรือกับบุคคลใด ๆ นอกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่นายหน้าประกันชีวิตซึ่งได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ทำสัญญาประกันต่อกับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในต่างประเทศ

หมวด ๔/๑

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย

มาตรา ๘๓/๑ รายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทต้องผ่านการรับรองโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

มาตรา ๘๓/๒ ผู้ใดจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๓/๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาทางคณิตศาสตร์ประกันภัยตามหลักสูตรหรือวิชาที่นายทะเบียนประกาศกำหนดจากสถาบันการศึกษาที่ ก.พ. รับรอง และปฏิบัติงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยที่นายทะเบียนประกาศกำหนดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือ

(๒) เป็นสมาชิกระดับเฟลโลของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

ประกาศของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๘๓/๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดตามมาตรา ๑๑๔/๑ หรือมาตรา ๑๑๔/๒ เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

(๒) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) อยู่ในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

(๕) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

มาตรา ๘๓/๕ ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอภายในกำหนดสองเดือนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ถือว่าผู้ยื่นคำขออยู่ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๓/๖ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องจัดทำรายงานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือรายงานการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์อื่นๆ ตามแบบและรายการที่นายทะเบียนประกาศกำหนด โดยนายทะเบียนจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

มาตรา ๘๓/๗ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๘๓/๘ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย

(๑) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๓/๖ หรือมาตรา ๘๓/๗

(๒) รับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยขาดความระมัดระวัง

การสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินครั้งละหนึ่งปี

มาตรา ๘๓/๙ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย

(๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘๓/๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘๓/๔

(๒) เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตมาแล้วและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๘๓/๘ อีก

มาตรา ๘๓/๑๐  ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตามมาตรา ๘๓/๘ หรือมาตรา ๘๓/๙ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด



 
QR CODE Facebook
Twitter
Since 19.10.09
You are here: Home ติวสอบตัวแทน พระราชบัญญัติประกันชีวิต