Article Index |
---|
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 |
1 |
2 |
3 |
4 |
All Pages |
หมวด ๕
กองทุนประกันชีวิต
มาตรา ๘๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นเรียกว่า “กองทุนประกันชีวิต” มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ
กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา ๘๕ กองทุนประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
(๒) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๕๒
(๓) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๕/๓
(๔) เงินเพิ่มที่ได้รับตามมาตรา ๘๕/๔
(๕) เงินค่าปรับตามมาตรา ๑๑๗ หลังจากหักเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว
(๖) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้มอบให้
(๗) ดอกผลหรือรายได้จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
(๘) เงินสนับสนุนจากรัฐบาล
มาตรา ๘๕/๑ กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๘๔ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๓) ให้บริษัทกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๔) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(๕) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา ๘๕/๒ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต
(๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ทั้งนี้ ไม่เกินวงเงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๕ (๑) และ (๒)
(๓) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุน ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
มาตรา ๘๕/๓ ให้บริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน
หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งเงินเข้ากองทุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะประกาศลดอัตราหรืองดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้
มาตรา ๘๕/๔ บริษัทใดไม่นำเงินส่งเข้ากองทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๘๕/๓ ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนของจำนวนเงินที่บริษัทนั้นนำส่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน
ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ามีเหตุสุดวิสัยทำให้บริษัทไม่สามารถนำเงินส่งเข้ากองทุนได้ตามที่กำหนดในมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๘๕/๓ และบริษัทได้นำเงินส่งเข้ากองทุนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ครบกำหนด เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละหนึ่ง
ในระหว่างที่บริษัทไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนหรือไม่ชำระเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งห้ามบริษัทนั้นดำเนินการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจะนำเงินส่งเข้ากองทุนและชำระเงินเพิ่มให้ถูกต้องและครบถ้วน และนายทะเบียนได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทดำเนินการขยายธุรกิจ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘๕/๕ ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตและจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๖ มีไม่เพียงพอ ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน
จำนวนเงินที่เจ้าหนี้แต่ละรายมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๖ แล้ว ต้องไม่เกินมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย หากมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยทุกสัญญารวมกันมีจำนวนเกินหนึ่งล้านบาท ก็ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงหนึ่งล้านบาท
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงิน และมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๘๕/๖ เพื่อความเป็นธรรม คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะประกาศกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๕/๕ วรรคสอง เป็นการทั่วไป หรือเป็นการเฉพาะแก่สัญญาประกันชีวิตประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้
มาตรา ๘๕/๗ ให้กองทุนเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยเท่ากับจำนวนเงินที่กองทุนได้จ่ายไป และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในเงินจำนวนนั้นจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ชำระบัญชี แล้วแต่กรณี โดยมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้สามัญของบริษัทนั้นทั้งหมด
มาตรา ๘๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุน” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทยจำนวนสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ
ให้ผู้จัดการเป็นเลขานุการ
มาตรา ๘๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งเข้ารับหน้าที่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
มาตรา ๘๖/๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๗) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๘๖/๓ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศในการบริหารกิจการของกองทุน
(๒) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
(๓) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้และการอนุมัติชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย
(๔) กำหนดอัตราและระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินของกองทุนในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้บริษัทกู้ยืมเงินตามมาตรา ๘๕/๑ (๓)
(๖) กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนตามมาตรา ๘๕/๒ (๓)
(๗) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้จัดการ
(๘) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือเกี่ยวเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการบริหารกองทุนอาจขอให้นายทะเบียน บริษัท หรือบุคคลใดมาชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา ๘๖/๔ การประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๘๖/๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมายได้
ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๘๖/๔ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๘๖/๖ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการของคณะกรรมการบริหารกองทุนได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๘๗ ให้กองทุนมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนแต่งตั้ง
การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงานในหน้าที่ผู้จัดการ ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนดโดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้างแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
การทำสัญญาจ้างผู้จัดการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนามของกองทุน
ให้ผู้จัดการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
มาตรา ๘๗/๑ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา
มาตรา ๘๗/๒ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘๗/๑ แล้ว ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
(๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(๔) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๕) ดำรงตำแหน่งอื่นใดในนิติบุคคลที่มีการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับกองทุน
(๖) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมายให้เป็นกรรมการในบริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้น
มาตรา ๘๗/๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามอายุการจ้าง ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘๗/๑ หรือมาตรา ๘๗/๒
(๔) คณะกรรมการบริหารกองทุนมีมติเห็นสมควรให้เลิกจ้าง
มาตรา ๘๗/๔ ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของกองทุน การปฏิบัติงานของผู้จัดการและการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทน ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
นิติกรรมหรือการใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการบริหารกองทุนจะให้สัตยาบัน
มาตรา ๘๘ ให้กองทุนวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีตามหลักสากล มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ
(๑) การรับและจ่ายเงิน
(๒) สินทรัพย์และหนี้สินซึ่งแสดงการเงินที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น
มาตรา ๘๘/๑ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน
มาตรา ๘๘/๒ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการและรัฐมนตรีด้วย