SUPREME 24

   
ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ
  บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต โดย คุณรุ่งนภา สดงาม
สนใจร่วมกับทีมงานตัวแทนประกันชีวิต มืออาชีพ บริหารงานโดย คุณรุ่งนภา โทร. 086-3341466

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 - 1

E-mail Print PDF
Article Index
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
1
2
3
4
All Pages

 

หมวด ๒

การควบคุมบริษัท

มาตรา ๒๘ นอกจากการประกันชีวิต บริษัทจะลงทุนประกอบธุรกิจอื่นใดได้เฉพาะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในการนี้รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับการประกอบธุรกิจนั้น ๆ ให้บริษัทปฏิบัติด้วยก็ได้

มาตรา ๒๙ กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นไปตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ  ทั้งนี้ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยด้วย

แบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือยกเลิกแบบหรือข้อความนั้นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างไปจากแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิเลือกให้บริษัทต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามแบบกรมธรรม์ประกันภัยหรือข้อความที่บริษัทออกให้นั้น หรือตามแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วก็ได้ และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้ประการใดหรือไม่ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้แบบหรือข้อความที่นายทะเบียนมิได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้เอาประกันภัยจะเลือกให้บริษัทต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น หรือจะบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตนั้นเสียและให้บริษัทคืนเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้นที่ได้ชำระไว้แล้วแก่บริษัทก็ได้ และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้ประการใดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๐ อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทกำหนด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

อัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้เปลี่ยนอัตรานั้นเสียใหม่ก็ได้ การเปลี่ยนอัตราใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ก่อนแล้ว

มาตรา ๓๐/๑ ให้ถือว่าข้อความหรือภาพที่โฆษณา หรือหนังสือชักชวนเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย หากข้อความหรือภาพใดมีความหมายขัดกับข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย แล้วแต่กรณี

ห้ามตัวแทนประกันชีวิตนำข้อความหรือภาพโฆษณา หรือหนังสือชักชวนที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทไปใช้ในการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิต

มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยระบุจำนวนเงินอันจะพึงใช้ให้เป็นเงินตราต่างประเทศแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

มาตรา ๓๒ การคำนวณผลกำไรของบริษัทว่ามีหรือไม่และเท่าใดเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น บริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

(๒) ลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

(๓) ฝากเงินไว้ที่อื่นนอกจากที่ธนาคาร บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

(๔) เก็บเงินสดไว้ที่อื่นนอกจากเก็บไว้ที่สำนักงานของบริษัท

(๕) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทเพื่อเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากธุรกิจหรือการกระทำใด ๆ เว้นแต่เป็นการจ่ายบำเหน็จ เงินเดือน โบนัส หรือเงินอย่างอื่นที่พึงจ่ายตามปกติ

(๖) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต นอกจากเงินค่าจ้างหรือบำเหน็จที่พึงจ่ายตามปกติ

(๗) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใด เป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท

(๘) จ่ายบำเหน็จให้แก่บุคคลที่ช่วยให้มีการทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งมิใช่ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตของบริษัท

(๙) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามสมควร

(ข) เพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๘

(ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการรับชำระหนี้หรือจากการบังคับจำนอง

การซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) หรือ (ข) หรือการได้อสังหาริมทรัพย์มาจากการรับชำระหนี้ตาม (ค) ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน ในการอนุญาตนายทะเบียนจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

(๑๐) ให้ประโยชน์เป็นพิเศษแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

(๑๑) รับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยลดลงต่ำกว่าจำนวนที่ต้องชำระ

(๑๒) ตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นนอกจากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต หรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินเป็นผู้รับชำระเบี้ยประกันภัย

(๑๓) ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่มีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัทและไม่ได้ประทับตราของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ หรือไม่มีลายมือชื่อของผู้จัดการสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตและไม่ได้ประทับตราของบริษัทนั้นด้วย ถ้ามี

(๑๔) โฆษณาจูงใจอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจประกันชีวิตของบริษัท

(๑๕) ตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นนอกจากตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทไปชักชวนชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท  ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการกระทำของกรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทซึ่งกระทำการในนามบริษัท หรือ

(๑๖) ขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ใดๆ หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่นายทะเบียนกำหนดแก่กรรมการบริษัท หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการบริษัท  ทั้งนี้ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

มาตรา ๓๔ บริษัทต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของบริษัทตามมาตรา ๓๓ (๙) ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทมีไว้เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจ หรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท หรือเพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นตามมาตรา ๓๓ (๙) (ก) หรือ (ข) ถ้ามิได้ใช้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้วให้จำหน่ายภายในห้าปีนับแต่วันที่เลิกใช้

(๒) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการรับชำระหนี้ หรือจากการบังคับจำ นองตามมาตรา ๓๓ (๙) (ค) ให้จำหน่ายภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา ๓๓ (๙) (ก) หรือ (ข)

นายทะเบียนอาจขยายระยะเวลาตาม (๑) และ (๒) ได้อีกตามระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด  ทั้งนี้ นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขในการให้ขยายระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๓๕ กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท หรือที่ปรึกษาของบริษัทต้องเป็นบุคคลซึ่งมีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๒) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

(๓) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทในช่วงเวลาที่บริษัทนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตหรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเช่นว่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

(๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอื่นที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(๕) ถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตามมาตรา ๕๔

(๖) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(๗) เป็นข้าราชการหรือพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัท เว้นแต่กรณีของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานของบริษัทหรือเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๕๔

(๘) มีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในฐานะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์

มาตรา ๓๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๑ ห้ามมิให้บริษัทมอบหมายหรือยินยอมให้บุคคลใดทำการรับประกันชีวิตโดยใช้กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท

ห้ามมิให้บริษัทมอบหมายหรือยินยอมให้บุคคลใดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยบางส่วนหรือทั้งหมดนอกจากการประกันต่อ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้บริษัทประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่าย หรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

การกระทำหรือการปฏิบัติใด ๆ ของบริษัทที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๓๗/๑ ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกันภัย การจ่ายค่าสินไหมทดแทนการชดใช้เงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรม์ประกันภัย นายทะเบียนอาจจัดให้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการไกล่เกลี่ยได้

มาตรา ๓๘ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใดๆ ให้บริษัทปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ได้

(๑) การเก็บเบี้ยประกันภัย

(๒) การประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท

(๓) การประกันต่อ

(๔) การจำแนกประเภทค่าใช้จ่าย

(๕) การกำหนดวิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเงินค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ประกันภัย อัตรามูลค่าการใช้เงินสำเร็จตามกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราขยายระยะเวลาการใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย และเงื่อนไขในการจ่ายเงินนั้น

(๖) การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือบำเหน็จสำหรับตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต

(๗) การกำหนดแบบ ขนาด ตัวอักษร ภาษาที่ใช้ และข้อความของเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัท

(๘) การให้กู้ยืมเงินโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกัน

(๙) การแบ่งจ่ายคืนเงินปันผลให้แก่ผู้เอาประกันภัย

(๑๐) การกำหนดประเภทและอัตราอย่างสูงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรับประกันภัย

(๑๑) การรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายใน

(๑๒) การชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

(๑๓) การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัท

มาตรา ๓๙ ในการติดต่อกับประชาชน บริษัทต้องเปิดทำการตามวันและเวลาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้ บริษัทจะเปิดทำการเกินกว่าที่กำหนดก็ได้

มาตรา ๔๐ ให้บริษัทจัดทำสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนด

เมื่อมีเหตุจะต้องลงในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีของบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ให้บริษัทลงรายการที่เกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท  ทั้งนี้ ไม่ช้ากว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องลงรายการนั้น

มาตรา ๔๑ ให้บริษัทเก็บรักษาสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีตามมาตรา ๔๐ ไว้ที่สำนักงานของบริษัทไม่น้อยกว่าสิบปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีนั้น หรือนับแต่วันที่บริษัทพ้นจากความรับผิดตามรายการที่มีความรับผิดหลังสุด  ทั้งนี้ แล้วแต่อย่างใดจะยาวกว่า

มาตรา ๔๒ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจดูสมุดทะเบียนตามมาตรา ๔๐ เฉพาะรายการที่ตนเกี่ยวข้องหรือจะขอให้บริษัทคัดสำเนารายการดังกล่าวโดยรับรองว่าถูกต้องด้วยก็ได้  ทั้งนี้ ต้องเสียค่าบริการตามที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๔๓ บริษัทต้องจัดทำและยื่นงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทต่อคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

(๑) งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว

(๒) งบการเงินสำหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว

(๓) รายงานประจำปีแสดงการดำเนินงานของบริษัท

การจัดทำและยื่นงบการเงินและรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้สอบบัญชีต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี

สำหรับบริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศ นอกจากต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ต้องส่งรายงานประจำปีของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ตนเป็นสาขาด้วยภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศนั้น

มาตรา ๔๔ ถ้าปรากฏว่ารายงานประจำปีที่บริษัทส่งตามมาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง ไม่ถูกต้องหรือไม่มีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องหรือครบถ้วนบริบูรณ์ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

ในกรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทมิได้ส่งรายงานประจำปีตามมาตรา ๔๓

มาตรา ๔๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บริษัทยื่นรายงานหรือเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยคณะกรรมการจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

รายงานหรือเอกสารที่ยื่นหรือแสดงหรือทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความตามวรรคหนึ่ง บริษัทต้องทำให้ครบถ้วนตรงต่อความเป็นจริง

มาตรา ๔๖ ให้บริษัทประกาศรายการงบดุลและงบกำไรขาดทุนตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งงบการเงินตามมาตรา ๔๓ (๒) ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายแพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามวันและให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนด้วย

มาตรา ๔๖/๑ เพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๔๗ ให้บริษัทส่งรายงานประจำปีการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่รับรองโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต่อคณะกรรมการตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๔๘ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบให้นายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

(๑) เข้าไปในสำนักงานของบริษัทในระหว่างเวลาทำการเพื่อทราบข้อเท็จจริง ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ จากกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทและสอบถามบุคคลดังกล่าวได้

(๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัท หรือสถานที่ใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสมุดบัญชี เอกสาร หรือดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท เพื่อตรวจสอบหรือประเมินราคาทรัพย์สินของบริษัท ในระหว่างเวลาทำการหรือในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

(๓) สั่งให้บริษัทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ

(๔) เรียกบุคคลดังกล่าวใน (๑) หรือ (๓) มาให้ถ้อยคำหรือจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการก็ได้

ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๔๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา ๕๐ ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอตรวจดูสมุดทะเบียนและเอกสารที่เกี่ยวแก่สมุดทะเบียนที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ และขอคัดสำเนาโดยมีคำรับรองของนายทะเบียนได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๕๑ บริษัทใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิต ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ

เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือผู้มีส่วนได้เสีย ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ

(๑) วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่

(๒) วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย

(๓) การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔

(๔) การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันชีวิตและกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๘

(๕) ระยะเวลาของการดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิต และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิตและให้มีการชำระบัญชี แต่ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะเลิกบริษัท ให้บริษัทดำเนินการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิโดยเปลี่ยนแปลงชื่อและวัตถุประสงค์ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจประกันชีวิต

ในการชำระบัญชีหรือการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

ในกรณีที่บริษัทซึ่งเป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศเลิกกิจการให้มีการชำระบัญชีในการชำระบัญชีนั้นให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๕๑/๑ ให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิตส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่อนายทะเบียนพร้อมกับยื่นคำขอรับคืนหลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้ตามมาตรา ๒๐  ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๖ วรรคสองและวรรคสาม

มาตรา ๕๒ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือทายาทของผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัย หากมิได้เรียกร้องจากบริษัทจนล่วงพ้นอายุความแล้ว ให้บริษัทนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดอายุความ

มาตรา ๕๓ เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา ๒๗/๗ หรือปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่าบริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด หรือสั่งให้เพิ่มทุนหรือลดทุนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๒๗ วรรคสองก็ได้

ในกรณีที่บริษัทใดไม่เพิ่มทุนหรือลดทุนภายในกำหนดเวลาที่นายทะเบียนสั่งตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว

ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องให้บริษัทใดเพิ่มทุนหรือลดทุนเพื่อให้บริษัทนั้นสามารถพยุงฐานะและการดำเนินการต่อไปได้ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะสั่งให้บริษัทเพิ่มทุนหรือลดทุนทันทีก็ได้ โดยให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ในการเพิ่มทุนหรือลดทุนตามวรรคสองหรือวรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๖ วรรคสอง (๒) มาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้บังคับ

มาตรา ๕๔ เมื่อปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่าบริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน หรือกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๕๓ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นถอดถอนกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทผู้เป็นต้นเหตุดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้

ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งถอดถอนบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทนั้นแต่งตั้งบุคคลอื่นโดยความเห็นชอบจากนายทะเบียนเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันถอดถอน

ในกรณีที่บริษัทใดไม่ถอดถอนบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือถอดถอนแล้วไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคสอง นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งถอดถอนบุคคลดังกล่าวหรือแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งเป็นเวลาไม่เกินสามปี และมิให้นำความในมาตรา ๓๕ (๔) มาใช้บังคับ

ให้ผู้ซึ่งนายทะเบียนแต่งตั้งตามวรรคสามได้รับค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัทนั้น และในระหว่างเวลาที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีมติเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของนายทะเบียนมิได้

บุคคลซึ่งถูกถอดถอนตามคำสั่งของนายทะเบียนจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใด ๆ ในบริษัทนั้นไม่ได้ไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม

ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนที่ให้ถอดถอนหรือแต่งตั้งตามมาตรานี้เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น

มาตรา ๕๕ ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๔ แล้ว แต่ฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทก็ยังไม่ดีขึ้น รัฐมนตรีจะสั่งให้มีการควบคุมบริษัทนั้น หรือจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทนั้นเสียก็ได้

มาตรา ๕๖ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งนั้นไปยังบริษัท และให้ปิดคำสั่งนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทนั้น กับทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในท้องถิ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่อย่างน้อยสองฉบับ

มาตรา ๕๗ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัทนั้นประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคน คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทนั้นได้ทุกประการและให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของบริษัทนั้น  ทั้งนี้ มิให้นำความในมาตรา ๓๕ (๔) มาใช้บังคับ

ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของบริษัทที่ถูกควบคุมหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ของบริษัทได้

การตั้งคณะกรรมการและการแต่งตั้งกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๕๘ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ห้ามมิให้กรรมการและพนักงานของบริษัทดำเนินกิจการของบริษัทนั้น เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมบริษัท

มาตรา ๕๙ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ให้กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของบริษัทนั้นจัดการตามควร เพื่อปกป้องรักษาทรัพย์สินและประโยชน์ของบริษัทไว้ และรีบรายงานกิจการและมอบทรัพย์สินพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา และสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของบริษัทให้แก่คณะกรรมการควบคุมบริษัทนั้นโดยมิชักช้า

มาตรา ๖๐ คณะกรรมการควบคุมบริษัทมีอำนาจสั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้แสดง หรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราและหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกควบคุม

มาตรา ๖๑ เมื่อคณะกรรมการควบคุมบริษัทเห็นว่าบริษัทที่ถูกควบคุมจะดำเนินกิจการของตนเองต่อไปได้ ให้รายงานต่อรัฐมนตรี ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรจะมีคำสั่งให้เลิกการควบคุมเสียก็ได้ เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งเช่นว่านั้น ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งนั้นไปยังบริษัทและให้ประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในท้องถิ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่อย่างน้อยสองฉบับ

มาตรา ๖๒ เมื่อคณะกรรมการควบคุมบริษัทเห็นว่าบริษัทที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ และมีเหตุสมควรเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๖๔ ให้รายงานต่อรัฐมนตรี ถ้ารัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทนั้นเสียตามมาตรา ๖๔ ก็ได้

มาตรา ๖๓ คณะกรรมการควบคุมบริษัทอาจได้รับเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัท

หมวด ๓

การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

มาตรา ๖๔ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต เมื่อปรากฏแก่รัฐมนตรีว่าบริษัท

(๑) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

(๒) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

(๓) หยุดประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๔) ประวิงการจ่ายเงินที่ต้องใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายหรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

(๕) ถ้าประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย หรือประชาชน

มาตรา ๖๕ เมื่อบริษัทใดถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตให้บริษัทนั้นเลิกกันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและให้มีการชำระบัญชี ในการชำระบัญชีนั้นให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี การใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน

มาตรา ๖๖ เพื่อประโยชน์แก่การชำระบัญชี ให้ถือว่าบริษัทซึ่งเป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศเป็นบริษัทจำกัด และเพื่อประโยชน์แก่การนี้ ให้ถือว่านายทะเบียนและกรมการประกันภัยเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วแต่กรณี และการเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้เสนอต่อนายทะเบียน แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่มีต่อบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศนั้น

มาตรา ๖๗ ผู้ชำระบัญชีซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๖๕ อาจได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัท



 
QR CODE Facebook
Twitter
Since 19.10.09
You are here: Home ติวสอบตัวแทน พระราชบัญญัติประกันชีวิต