SUPREME 24

   
ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ
  บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต โดย คุณรุ่งนภา สดงาม
สนใจร่วมกับทีมงานตัวแทนประกันชีวิต มืออาชีพ บริหารงานโดย คุณรุ่งนภา โทร. 086-3341466

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535

E-mail Print PDF
Article Index
พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
1
2
3
4
All Pages

พระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ. ๒๕๓๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจประกันชีวิตของธนาคารออมสินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน

มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้

“บริษัท” หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

“สำนักงานใหญ่” หมายความรวมถึงสำนักงานสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

“การประกอบธุรกิจประกันชีวิต” หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจประกันต่อด้วย

“เงินกองทุน” (ยกเลิก)

“ตัวแทนประกันชีวิต” หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท

“นายหน้าประกันชีวิต” หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

“คณะกรรมการ”] หมายความว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนประกันชีวิต

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“นายทะเบียน”] หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมอบหมาย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กับออกประกาศตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

บริษัท

 

มาตรา ๗ การประกอบธุรกิจประกันชีวิตจะกระทำได้เมื่อได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อรัฐมนตรี และเมื่อรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตแล้ว ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด และดำเนินการวางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว

เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขออนุญาตได้ดำเนินการตามที่กำหนดในวรรคสองแล้วให้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้น

ในกรณีที่บริษัทมหาชนจำกัดไม่สามารถวางหลักทรัพย์หรือดำรงเงินกองทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าการอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตสิ้นผล

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๘ บริษัทประกันชีวิตต่างประเทศจะตั้งสาขาของบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ในการนี้รัฐมนตรีจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขก็ได้

การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยตั้งเป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

สาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ต้องดำรงทรัพย์สินไว้ในประเทศไทยตามจำนวน ชนิด วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำนวนทรัพย์สินที่รัฐมนตรีกำหนดต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินกองทุนที่บริษัทต้องดำรงตามมาตรา ๒๗

รัฐมนตรีจะออกใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่งก็ต่อเมื่อบริษัทได้วางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และดำรงไว้ซึ่งทรัพย์สินในประเทศไทยตามวรรคสามแล้ว

บริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศจะเปิดสาขา ณ ที่ใด ๆ มิได้

สาขาให้หมายความรวมถึงสำนักงานที่แยกออกจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด และได้รับเงินค่าใช้จ่ายจากบริษัทไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนให้ใช้เป็นที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการข้อมูล สถานที่เก็บเอกสาร และสถานที่ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับกิจการของบริษัท

มาตรา ๙ หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือและมีมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ไม่เกินหุ้นละหนึ่งร้อยบาท

การออกหุ้นบุริมสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด  ทั้งนี้ นายทะเบียนจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยโดยไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดก็ได้

มาตรา ๑๐ บริษัทต้องมีกรรมการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๑) และ (๒) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

(๑) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งไม่จดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมีสัญชาติไทย

(๒) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) มีบุคคลตาม (๑) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือ

(ข) มีบุคคลตาม (๑) หรือนิติบุคคลตาม (๒) (ก) หรือบุคคลตาม (๑) และนิติบุคคลตาม (๒) (ก) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

ในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการอาจอนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้มีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่าหนึ่งในสี่แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดได้  ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตให้นำหลักเกณฑ์การถือหุ้นของบุคคลตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่บริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดตามวรรคสองได้ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๑๑ บุคคลใดได้หุ้นของบริษัทใดมา และการได้มานั้นเป็นเหตุให้จำนวนหุ้นหรือบุคคลผู้ถือหุ้นอยู่เป็นไปโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินจำนวนที่ถือไว้ขึ้นใช้ยันต่อบริษัทนั้นมิได้ และบริษัทจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใดให้แก่บุคคลนั้น หรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นส่วนที่เกินมิได้

มาตรา ๑๒ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ให้บริษัทตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าสามเดือนก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นทุกคราว และแจ้งผลการตรวจสอบต่อนายทะเบียนตามรายการและภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในกรณีที่พบว่ามีจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถือหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ให้บริษัทแจ้งให้ผู้นั้นทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตรวจพบและให้ผู้นั้นดำเนินการแก้ไขภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้ง

มาตรา ๑๓ บทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ มิให้นำมาใช้บังคับแก่บริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามมาตรา ๘

มาตรา ๑๔ การโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการควบกันของบริษัทให้กระทำได้เฉพาะกับบริษัทด้วยกันเท่านั้น

ในกรณีที่บริษัทประสงค์จะโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือควบกันตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการบริษัทดังกล่าวร่วมกันจัดทำโครงการแสดงรายละเอียดการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการ  ทั้งนี้ ในการให้ความเห็นชอบคณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรือเพื่อความมั่นคงของการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยก็ได้

มาตรา ๑๔/๑ การโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการโอนกิจการได้  ทั้งนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องในการโอนกิจการไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา ๓๐๘ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในกรณีเป็นการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทให้ถือว่าการโอนมีผลสมบูรณ์ เมื่อบริษัทที่โอนและบริษัทที่รับโอนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้วและให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่ออกให้แก่บริษัทที่โอนกิจการนั้น

มาตรา ๑๔/๒ การควบบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

การควบบริษัทตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลสมบูรณ์เมื่อบริษัทที่จะควบกันได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว และให้ถือว่าบริษัทที่ควบกันได้รับอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง

เมื่อได้มีการจดทะเบียนการควบบริษัท และดำเนินการวางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ แล้ว ให้รัฐมนตรีออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทที่ควบกันและให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่ออกให้แก่บริษัทเดิม

มาตรา ๑๔/๓ ในการโอนกิจการของบริษัทให้แก่บริษัทอื่นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการควบบริษัท หากมีการโอนสินทรัพย์ที่มีหลักประกันเป็นอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกัน ซึ่งย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ให้หลักประกันเป็นอย่างอื่นนั้นตกแก่บริษัทที่รับโอนกิจการหรือบริษัทที่ควบกันแล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๕ นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตบริษัทต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการประกอบธุรกิจประกันชีวิตทุกปี เว้นแต่ปีที่ออกใบอนุญาต

บริษัทใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งห้ามบริษัทนั้นดำเนินการขยายธุรกิจ  ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจะชำระค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องและครบถ้วน และนายทะเบียนได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทดำเนินการขยายธุรกิจ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๖ (ยกเลิก)

มาตรา ๑๗ บริษัทตามมาตรา ๗ ที่จะเปิดสาขา ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาหรือเลิกสาขา ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๘ วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใดๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทซึ่งตนไม่มีสิทธิใช้ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “ประกันชีวิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) บริษัท

(๒) สมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นบริษัทหรือสมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

(๓) สมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต

(๔) สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

(๕) ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตที่ใช้เพื่อเป็นคำแสดงชื่อในธุรกิจการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตของตน แล้วแต่กรณี

(๖) สถาบันการศึกษาวิชาประกันชีวิตหรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตซึ่งใช้เพื่อเป็นคำแสดงชื่อของสถาบันนั้น

(๗) กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง สมาชิก หรือผู้มีฐานะ มีตำแหน่ง หรือหน้าที่ใด ๆ ในบริษัท สมาคม สหภาพแรงงาน สถาบันการศึกษาวิชาประกันชีวิต หรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๖) ซึ่งใช้เพื่อแสดงความเป็นกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง สมาชิก หรือความมีฐานะ มีตำแหน่ง หรือหน้าที่ของตนในบริษัท สมาคม สหภาพแรงงาน หรือสถาบันดังกล่าว

การใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจของตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตตาม (๕) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

มาตรา ๒๐ บริษัทต้องมีหลักทรัพย์ของบริษัทวางไว้กับนายทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ประกันมีมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

หลักทรัพย์ของบริษัทที่ต้องวางไว้กับนายทะเบียนจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดก็ได้

บริษัทอาจขอเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ประกันที่วางไว้ได้  ทั้งนี้ ภายใต้บังคับวรรคหนึ่งและวรรคสอง

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันของบริษัทใดมีมูลค่าลดต่ำลงกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๐ ให้นายทะเบียนสั่งให้บริษัทนั้นนำหลักทรัพย์ประกันมาเพิ่มจนครบจำนวนที่กำหนดภายในสองเดือนนับแต่วันได้รับคำสั่ง

มาตรา ๒๒ ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันของบริษัทใดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๐ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนหลักทรัพย์ประกันส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นได้ ตามคำขอของบริษัทซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

มาตรา ๒๓ ให้บริษัทจัดสรรเบี้ยประกันภัยไว้เป็นเงินสำรองประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ และเงินสำรองอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เงินสำรองตามวรรคหนึ่งจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๔ คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้บริษัทวางเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ไว้กับนายทะเบียนเป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินสำรองตามมาตรา ๒๓

การวางเงินสำรองตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๕ ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ เป็นทรัพย์สินที่การโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือต้องกระทำต่อบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องนั้นทราบ และห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องนั้นโอนหรือให้ไปซึ่งทรัพย์สินนั้น จนกว่านายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งการถอนหรือการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินนั้น

มาตรา ๒๖ หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้ตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี  ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่บริษัทยังมิได้เลิกกัน

ในกรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษอื่น

ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวอย่างเดียวกันกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

ทรัพย์สินของบริษัทนอกจากหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หมวด ๑/๑

การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่อง

 

มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุนรวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัท

บริษัทต้องดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิตเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือความเสี่ยงตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การกำหนดอัตราการดำรงเงินกองทุนตามวรรคสอง คณะกรรมการจะกำหนดตามขนาดหรือประเภทของสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือความเสี่ยงรวมทุกประเภทหรือแต่ละประเภทก็ได้

ในกรณีที่บริษัทมีการซื้อหุ้นคืนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มิให้นับหุ้นที่ซื้อคืนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุน โดยให้หักเงินกองทุนออกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ห้ามบริษัทนำเงินกองทุนไปใช้ก่อภาระผูกพัน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๑ บริษัทต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การกำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจะกำหนดแต่เพียงบางประเภทหรือทุกประเภท หรือจะกำหนดอัตราส่วนของแต่ละประเภทในอัตราใดก็ได้

อัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรานี้ถ้าเป็นการเพิ่มอัตราดังกล่าวต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าหกสิบวัน

มาตรา ๒๗/๒ สินทรัพย์สภาพคล่องได้แก่

(๑) เงินสด หรือเงินฝากธนาคารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(๒) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือหลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย

(๓) หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย

(๔) สินทรัพย์อื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

สินทรัพย์สภาพคล่องตาม (๒) (๓) และ (๔) ต้องปราศจากภาระผูกพันและสามารถโอนเปลี่ยนมือได้

มาตรา ๒๗/๓ บริษัทต้องบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน และเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ให้มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการรับชำระเบี้ยประกันภัย การกู้ยืมเงิน หรือการรับเงินจากผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๔ ให้บริษัทจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันชีวิต  ทั้งนี้ ตามประเภท ชนิด และสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ให้บริษัทนำเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ยกเว้นส่วนที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔ และสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งฝากกับสถาบันการเงินหรือดำเนินการอย่างอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ห้ามบริษัทนำสินทรัพย์ตามวรรคสองไปใช้ก่อภาระผูกพัน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๕ ให้บริษัทจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนเสนอต่อนายทะเบียนทุกเดือนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

ในกรณีที่เงินกองทุนของบริษัทใดลดลงต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา ๒๗ วรรคสอง ให้บริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนหรือวันที่ผู้สอบบัญชีหรือบริษัทตรวจพบ

โครงการตามวรรคสองอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) ขั้นตอนที่จะเพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอ

(๒) ระดับเงินกองทุนที่คาดว่าจะดำรงในแต่ละไตรมาสภายในระยะเวลาของโครงการ

(๓) ประเภทและธุรกิจที่จะประกอบการ

(๔) ระยะเวลาของโครงการซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปี

ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาและแจ้งให้บริษัททราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับโครงการ  ทั้งนี้ การให้ความเห็นชอบจะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้

ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ให้ความเห็นชอบโครงการ หรือบริษัทไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ให้บริษัทมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๗/๖ ในระหว่างดำเนินการตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๒๗/๕ บริษัทสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่จะดำเนินการขยายธุรกิจไม่ได้จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามมาตรา ๒๗ วรรคสอง

การขยายธุรกิจของบริษัทตามวรรคหนึ่งให้หมายถึง

(๑) การรับประกันภัยรายใหม่ หรือการขยายวงเงินการรับประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่

(๒) การเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

(๓) การก่อภาระผูกพันเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามภาระผูกพันที่มีอยู่

(๔) การทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตเพิ่มเติม

(๕) การรับโอนกิจการของบริษัท

กรณีใดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงตาม (๒) หรือเป็นการก่อภาระผูกพันเพิ่มเติมตาม (๓) ให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗/๗ ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๕๓ เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) บริษัทไม่เสนอโครงการตามมาตรา ๒๗/๕ ต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา

(๒) บริษัทไม่ดำเนินการตามโครงการ หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๒๗/๕  ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

(๓) โครงการที่เสนอตามมาตรา ๒๗/๕ ไม่ได้รับความเห็นชอบและบริษัทไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์


 

หมวด ๒

การควบคุมบริษัท

มาตรา ๒๘ นอกจากการประกันชีวิต บริษัทจะลงทุนประกอบธุรกิจอื่นใดได้เฉพาะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในการนี้รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับการประกอบธุรกิจนั้น ๆ ให้บริษัทปฏิบัติด้วยก็ได้

มาตรา ๒๙ กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นไปตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ  ทั้งนี้ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยด้วย

แบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือยกเลิกแบบหรือข้อความนั้นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างไปจากแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิเลือกให้บริษัทต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามแบบกรมธรรม์ประกันภัยหรือข้อความที่บริษัทออกให้นั้น หรือตามแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วก็ได้ และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้ประการใดหรือไม่ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้แบบหรือข้อความที่นายทะเบียนมิได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้เอาประกันภัยจะเลือกให้บริษัทต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น หรือจะบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตนั้นเสียและให้บริษัทคืนเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้นที่ได้ชำระไว้แล้วแก่บริษัทก็ได้ และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้ประการใดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๐ อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทกำหนด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

อัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้เปลี่ยนอัตรานั้นเสียใหม่ก็ได้ การเปลี่ยนอัตราใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ก่อนแล้ว

มาตรา ๓๐/๑ ให้ถือว่าข้อความหรือภาพที่โฆษณา หรือหนังสือชักชวนเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย หากข้อความหรือภาพใดมีความหมายขัดกับข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย แล้วแต่กรณี

ห้ามตัวแทนประกันชีวิตนำข้อความหรือภาพโฆษณา หรือหนังสือชักชวนที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทไปใช้ในการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิต

มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยระบุจำนวนเงินอันจะพึงใช้ให้เป็นเงินตราต่างประเทศแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

มาตรา ๓๒ การคำนวณผลกำไรของบริษัทว่ามีหรือไม่และเท่าใดเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น บริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

(๒) ลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

(๓) ฝากเงินไว้ที่อื่นนอกจากที่ธนาคาร บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

(๔) เก็บเงินสดไว้ที่อื่นนอกจากเก็บไว้ที่สำนักงานของบริษัท

(๕) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทเพื่อเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากธุรกิจหรือการกระทำใด ๆ เว้นแต่เป็นการจ่ายบำเหน็จ เงินเดือน โบนัส หรือเงินอย่างอื่นที่พึงจ่ายตามปกติ

(๖) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต นอกจากเงินค่าจ้างหรือบำเหน็จที่พึงจ่ายตามปกติ

(๗) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใด เป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท

(๘) จ่ายบำเหน็จให้แก่บุคคลที่ช่วยให้มีการทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งมิใช่ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตของบริษัท

(๙) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามสมควร

(ข) เพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๘

(ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการรับชำระหนี้หรือจากการบังคับจำนอง

การซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) หรือ (ข) หรือการได้อสังหาริมทรัพย์มาจากการรับชำระหนี้ตาม (ค) ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน ในการอนุญาตนายทะเบียนจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

(๑๐) ให้ประโยชน์เป็นพิเศษแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

(๑๑) รับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยลดลงต่ำกว่าจำนวนที่ต้องชำระ

(๑๒) ตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นนอกจากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต หรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินเป็นผู้รับชำระเบี้ยประกันภัย

(๑๓) ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่มีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัทและไม่ได้ประทับตราของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ หรือไม่มีลายมือชื่อของผู้จัดการสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตและไม่ได้ประทับตราของบริษัทนั้นด้วย ถ้ามี

(๑๔) โฆษณาจูงใจอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจประกันชีวิตของบริษัท

(๑๕) ตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นนอกจากตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทไปชักชวนชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท  ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการกระทำของกรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทซึ่งกระทำการในนามบริษัท หรือ

(๑๖) ขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ใดๆ หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่นายทะเบียนกำหนดแก่กรรมการบริษัท หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการบริษัท  ทั้งนี้ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

มาตรา ๓๔ บริษัทต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของบริษัทตามมาตรา ๓๓ (๙) ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทมีไว้เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจ หรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท หรือเพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นตามมาตรา ๓๓ (๙) (ก) หรือ (ข) ถ้ามิได้ใช้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้วให้จำหน่ายภายในห้าปีนับแต่วันที่เลิกใช้

(๒) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการรับชำระหนี้ หรือจากการบังคับจำ นองตามมาตรา ๓๓ (๙) (ค) ให้จำหน่ายภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา ๓๓ (๙) (ก) หรือ (ข)

นายทะเบียนอาจขยายระยะเวลาตาม (๑) และ (๒) ได้อีกตามระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด  ทั้งนี้ นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขในการให้ขยายระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้

มาตรา ๓๕ กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท หรือที่ปรึกษาของบริษัทต้องเป็นบุคคลซึ่งมีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๒) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

(๓) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทในช่วงเวลาที่บริษัทนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตหรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเช่นว่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

(๔) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอื่นที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(๕) ถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตามมาตรา ๕๔

(๖) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(๗) เป็นข้าราชการหรือพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัท เว้นแต่กรณีของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานของบริษัทหรือเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๕๔

(๘) มีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในฐานะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์

มาตรา ๓๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๑ ห้ามมิให้บริษัทมอบหมายหรือยินยอมให้บุคคลใดทำการรับประกันชีวิตโดยใช้กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท

ห้ามมิให้บริษัทมอบหมายหรือยินยอมให้บุคคลใดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยบางส่วนหรือทั้งหมดนอกจากการประกันต่อ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้บริษัทประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่าย หรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

การกระทำหรือการปฏิบัติใด ๆ ของบริษัทที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๓๗/๑ ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกันภัย การจ่ายค่าสินไหมทดแทนการชดใช้เงินหรือประโยชน์อื่นใดตามกรมธรรม์ประกันภัย นายทะเบียนอาจจัดให้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการไกล่เกลี่ยได้

มาตรา ๓๘ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใดๆ ให้บริษัทปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ได้

(๑) การเก็บเบี้ยประกันภัย

(๒) การประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท

(๓) การประกันต่อ

(๔) การจำแนกประเภทค่าใช้จ่าย

(๕) การกำหนดวิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเงินค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ประกันภัย อัตรามูลค่าการใช้เงินสำเร็จตามกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราขยายระยะเวลาการใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย และเงื่อนไขในการจ่ายเงินนั้น

(๖) การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือบำเหน็จสำหรับตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต

(๗) การกำหนดแบบ ขนาด ตัวอักษร ภาษาที่ใช้ และข้อความของเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัท

(๘) การให้กู้ยืมเงินโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกัน

(๙) การแบ่งจ่ายคืนเงินปันผลให้แก่ผู้เอาประกันภัย

(๑๐) การกำหนดประเภทและอัตราอย่างสูงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรับประกันภัย

(๑๑) การรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายใน

(๑๒) การชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

(๑๓) การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัท

มาตรา ๓๙ ในการติดต่อกับประชาชน บริษัทต้องเปิดทำการตามวันและเวลาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้ บริษัทจะเปิดทำการเกินกว่าที่กำหนดก็ได้

มาตรา ๔๐ ให้บริษัทจัดทำสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนด

เมื่อมีเหตุจะต้องลงในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีของบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ให้บริษัทลงรายการที่เกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท  ทั้งนี้ ไม่ช้ากว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องลงรายการนั้น

มาตรา ๔๑ ให้บริษัทเก็บรักษาสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีตามมาตรา ๔๐ ไว้ที่สำนักงานของบริษัทไม่น้อยกว่าสิบปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีนั้น หรือนับแต่วันที่บริษัทพ้นจากความรับผิดตามรายการที่มีความรับผิดหลังสุด  ทั้งนี้ แล้วแต่อย่างใดจะยาวกว่า

มาตรา ๔๒ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจดูสมุดทะเบียนตามมาตรา ๔๐ เฉพาะรายการที่ตนเกี่ยวข้องหรือจะขอให้บริษัทคัดสำเนารายการดังกล่าวโดยรับรองว่าถูกต้องด้วยก็ได้  ทั้งนี้ ต้องเสียค่าบริการตามที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๔๓ บริษัทต้องจัดทำและยื่นงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทต่อคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

(๑) งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว

(๒) งบการเงินสำหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว

(๓) รายงานประจำปีแสดงการดำเนินงานของบริษัท

การจัดทำและยื่นงบการเงินและรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้สอบบัญชีต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี

สำหรับบริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศ นอกจากต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ต้องส่งรายงานประจำปีของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ตนเป็นสาขาด้วยภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศนั้น

มาตรา ๔๔ ถ้าปรากฏว่ารายงานประจำปีที่บริษัทส่งตามมาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง ไม่ถูกต้องหรือไม่มีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องหรือครบถ้วนบริบูรณ์ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

ในกรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทมิได้ส่งรายงานประจำปีตามมาตรา ๔๓

มาตรา ๔๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บริษัทยื่นรายงานหรือเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยคณะกรรมการจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

รายงานหรือเอกสารที่ยื่นหรือแสดงหรือทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความตามวรรคหนึ่ง บริษัทต้องทำให้ครบถ้วนตรงต่อความเป็นจริง

มาตรา ๔๖ ให้บริษัทประกาศรายการงบดุลและงบกำไรขาดทุนตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งงบการเงินตามมาตรา ๔๓ (๒) ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายแพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามวันและให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนด้วย

มาตรา ๔๖/๑ เพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๔๗ ให้บริษัทส่งรายงานประจำปีการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่รับรองโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต่อคณะกรรมการตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๔๘ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบให้นายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

(๑) เข้าไปในสำนักงานของบริษัทในระหว่างเวลาทำการเพื่อทราบข้อเท็จจริง ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ จากกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทและสอบถามบุคคลดังกล่าวได้

(๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัท หรือสถานที่ใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสมุดบัญชี เอกสาร หรือดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท เพื่อตรวจสอบหรือประเมินราคาทรัพย์สินของบริษัท ในระหว่างเวลาทำการหรือในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

(๓) สั่งให้บริษัทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ

(๔) เรียกบุคคลดังกล่าวใน (๑) หรือ (๓) มาให้ถ้อยคำหรือจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการก็ได้

ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๔๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา ๕๐ ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอตรวจดูสมุดทะเบียนและเอกสารที่เกี่ยวแก่สมุดทะเบียนที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ และขอคัดสำเนาโดยมีคำรับรองของนายทะเบียนได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๕๑ บริษัทใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิต ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ

เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือผู้มีส่วนได้เสีย ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ

(๑) วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่

(๒) วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย

(๓) การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา ๒๔

(๔) การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันชีวิตและกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๘

(๕) ระยะเวลาของการดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิต และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิตและให้มีการชำระบัญชี แต่ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะเลิกบริษัท ให้บริษัทดำเนินการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิโดยเปลี่ยนแปลงชื่อและวัตถุประสงค์ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจประกันชีวิต

ในการชำระบัญชีหรือการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

ในกรณีที่บริษัทซึ่งเป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศเลิกกิจการให้มีการชำระบัญชีในการชำระบัญชีนั้นให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๕๑/๑ ให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิตส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่อนายทะเบียนพร้อมกับยื่นคำขอรับคืนหลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้ตามมาตรา ๒๐  ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๖ วรรคสองและวรรคสาม

มาตรา ๕๒ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือทายาทของผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัย หากมิได้เรียกร้องจากบริษัทจนล่วงพ้นอายุความแล้ว ให้บริษัทนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดอายุความ

มาตรา ๕๓ เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา ๒๗/๗ หรือปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่าบริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด หรือสั่งให้เพิ่มทุนหรือลดทุนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๒๗ วรรคสองก็ได้

ในกรณีที่บริษัทใดไม่เพิ่มทุนหรือลดทุนภายในกำหนดเวลาที่นายทะเบียนสั่งตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว

ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องให้บริษัทใดเพิ่มทุนหรือลดทุนเพื่อให้บริษัทนั้นสามารถพยุงฐานะและการดำเนินการต่อไปได้ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะสั่งให้บริษัทเพิ่มทุนหรือลดทุนทันทีก็ได้ โดยให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ในการเพิ่มทุนหรือลดทุนตามวรรคสองหรือวรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๖ วรรคสอง (๒) มาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้บังคับ

มาตรา ๕๔ เมื่อปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่าบริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน หรือกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๕๓ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นถอดถอนกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทผู้เป็นต้นเหตุดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้

ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งถอดถอนบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทนั้นแต่งตั้งบุคคลอื่นโดยความเห็นชอบจากนายทะเบียนเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันถอดถอน

ในกรณีที่บริษัทใดไม่ถอดถอนบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือถอดถอนแล้วไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคสอง นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งถอดถอนบุคคลดังกล่าวหรือแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งเป็นเวลาไม่เกินสามปี และมิให้นำความในมาตรา ๓๕ (๔) มาใช้บังคับ

ให้ผู้ซึ่งนายทะเบียนแต่งตั้งตามวรรคสามได้รับค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัทนั้น และในระหว่างเวลาที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีมติเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของนายทะเบียนมิได้

บุคคลซึ่งถูกถอดถอนตามคำสั่งของนายทะเบียนจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใด ๆ ในบริษัทนั้นไม่ได้ไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม

ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนที่ให้ถอดถอนหรือแต่งตั้งตามมาตรานี้เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น

มาตรา ๕๕ ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๔ แล้ว แต่ฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทก็ยังไม่ดีขึ้น รัฐมนตรีจะสั่งให้มีการควบคุมบริษัทนั้น หรือจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทนั้นเสียก็ได้

มาตรา ๕๖ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งนั้นไปยังบริษัท และให้ปิดคำสั่งนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทนั้น กับทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในท้องถิ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่อย่างน้อยสองฉบับ

มาตรา ๕๗ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัทนั้นประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคน คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทนั้นได้ทุกประการและให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของบริษัทนั้น  ทั้งนี้ มิให้นำความในมาตรา ๓๕ (๔) มาใช้บังคับ

ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของบริษัทที่ถูกควบคุมหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ของบริษัทได้

การตั้งคณะกรรมการและการแต่งตั้งกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๕๘ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ห้ามมิให้กรรมการและพนักงานของบริษัทดำเนินกิจการของบริษัทนั้น เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมบริษัท

มาตรา ๕๙ เมื่อมีการควบคุมบริษัทใด ให้กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของบริษัทนั้นจัดการตามควร เพื่อปกป้องรักษาทรัพย์สินและประโยชน์ของบริษัทไว้ และรีบรายงานกิจการและมอบทรัพย์สินพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา และสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของบริษัทให้แก่คณะกรรมการควบคุมบริษัทนั้นโดยมิชักช้า

มาตรา ๖๐ คณะกรรมการควบคุมบริษัทมีอำนาจสั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้แสดง หรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราและหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกควบคุม

มาตรา ๖๑ เมื่อคณะกรรมการควบคุมบริษัทเห็นว่าบริษัทที่ถูกควบคุมจะดำเนินกิจการของตนเองต่อไปได้ ให้รายงานต่อรัฐมนตรี ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรจะมีคำสั่งให้เลิกการควบคุมเสียก็ได้ เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งเช่นว่านั้น ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งนั้นไปยังบริษัทและให้ประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในท้องถิ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่อย่างน้อยสองฉบับ

มาตรา ๖๒ เมื่อคณะกรรมการควบคุมบริษัทเห็นว่าบริษัทที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ และมีเหตุสมควรเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๖๔ ให้รายงานต่อรัฐมนตรี ถ้ารัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทนั้นเสียตามมาตรา ๖๔ ก็ได้

มาตรา ๖๓ คณะกรรมการควบคุมบริษัทอาจได้รับเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัท

หมวด ๓

การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

มาตรา ๖๔ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต เมื่อปรากฏแก่รัฐมนตรีว่าบริษัท

(๑) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

(๒) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

(๓) หยุดประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๔) ประวิงการจ่ายเงินที่ต้องใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายหรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

(๕) ถ้าประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย หรือประชาชน

มาตรา ๖๕ เมื่อบริษัทใดถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตให้บริษัทนั้นเลิกกันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและให้มีการชำระบัญชี ในการชำระบัญชีนั้นให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี การใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน

มาตรา ๖๖ เพื่อประโยชน์แก่การชำระบัญชี ให้ถือว่าบริษัทซึ่งเป็นสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศเป็นบริษัทจำกัด และเพื่อประโยชน์แก่การนี้ ให้ถือว่านายทะเบียนและกรมการประกันภัยเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วแต่กรณี และการเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้เสนอต่อนายทะเบียน แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่มีต่อบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศนั้น

มาตรา ๖๗ ผู้ชำระบัญชีซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๖๕ อาจได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัท


 

หมวด ๔

ตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต

มาตรา ๖๘ ผู้ใดจะกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

คำขอรับใบอนุญาตและใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ให้ระบุด้วยว่าเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใด

มาตรา ๖๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) บรรลุนิติภาวะ

(๒) มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(๓) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

(๕) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) ไม่เป็นนายหน้าประกันชีวิต

(๗) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

(๘) ได้รับการศึกษาวิชาประกันชีวิตจากสถาบันการศึกษาที่นายทะเบียนประกาศกำหนดหรือสอบความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตได้ตามหลักสูตรและวิธีการที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

มาตรา ๗๐ ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๖๙ ซึ่งประสงค์จะเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทนั้นต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทให้ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันชีวิตและหนังสือรับรองว่าผ่านการอบรมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผ่านการอบรมตามหลักสูตรและวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกาศกำหนด

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ผู้ที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใดอยู่แล้ว อาจขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทอื่นอีกได้ คำขอรับใบอนุญาตเช่นว่านี้ ผู้ขอต้องยื่นหนังสือแสดงความยินยอมของบริษัทที่ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันชีวิตอยู่แล้วพร้อมด้วยหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทใหม่ที่ต้องมีข้อความแสดงไว้ด้วยว่าบริษัทใหม่นั้นได้ทราบแล้วว่าผู้ขอเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทใดอยู่แล้ว เมื่อนายทะเบียนได้ออกใบอนุญาตแล้วให้แจ้งบริษัทที่เกี่ยวข้องทราบ

หนังสือแสดงความต้องการตามวรรคหนึ่งและหนังสือแสดงความยินยอมตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๗๐/๑ บริษัทต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท

มาตรา ๗๐/๒ ในการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทตัวแทนประกันชีวิตต้องไม่แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ในกรณีที่ตัวแทนประกันชีวิตไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๗๑ ให้ตัวแทนประกันชีวิตมีสิทธิรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

ตัวแทนประกันชีวิตอาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท

นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินอาจรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้ เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท

หนังสือมอบอำนาจของบริษัทตามวรรคสองและวรรคสามให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

หนังสือมอบอำนาจของบริษัท แม้มิได้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดก็ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๗๑/๑ ตัวแทนประกันชีวิตต้องแสดงใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตทุกครั้งที่มีการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิต หรือรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

ตัวแทนประกันชีวิตต้องออกเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

มาตรา ๗๑/๒ นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจจากบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทต้องออกเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่พนักงานของบริษัทซึ่งปฏิบัติหน้าที่รับเบี้ยประกันภัย ณ สำนักงานของบริษัท

มาตรา ๗๒ บุคคลธรรมดาซึ่งจะขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้ ต้องไม่เป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทใด  และให้นำความในมาตรา ๖๙ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๗) และ (๘) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นิติบุคคลอาจขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้เมื่อ

(๑) นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

(๒) กิจการดังกล่าวอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น

(๓) นิติบุคคลนั้นมีพนักงานหรือลูกจ้างที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้เป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าว และ

(๔) นิติบุคคลนั้นต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

มาตรา ๗๓ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๗๒ประสงค์จะเป็นนายหน้าประกันชีวิต ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียน

การออกใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันชีวิต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด

คำขอรับใบอนุญาตและใบอนุญาตตามมาตรานี้ ให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

มาตรา ๗๔ นายหน้าประกันชีวิตต้องมีสำนักงานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต ในกรณีย้ายสำนักงาน ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเป็นหนังสือภายในห้าวันนับแต่วันที่ย้าย

มาตรา ๗๕ ให้นายหน้าประกันชีวิตจัดทำสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนด

เมื่อมีเหตุจะต้องลงในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารตามวรรคหนึ่งให้นายหน้าประกันชีวิตลงรายการเกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเช่นว่านั้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุจะต้องลงรายการนั้น

มาตรา ๗๖ ให้นายหน้าประกันชีวิตเก็บรักษาสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนรวมทั้งเอกสารประกอบการลงสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีไว้ที่สำนักงานของตนไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันลงรายการครั้งสุดท้ายในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีนั้น

มาตรา ๗๗ ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อนายทะเบียนภายในกำหนดสองเดือนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองว่าผ่านการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผ่านการอบรมตามหลักสูตรและวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกาศกำหนด

ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งได้ต่ออายุใบอนุญาตครบสองคราวติดต่อกันแล้ว และได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ใบอนุญาตที่ออกให้ต่อไปมีอายุครั้งละห้าปี

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๗๘ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างในบริษัทใด ให้ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

มาตรา ๗๙ ในกรณีที่บริษัทได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นแล้วก็ดี หรือได้ส่งมอบแก่นายหน้าประกันชีวิตเพื่อส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เอาประกันภัยรายนั้นได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่บริษัทแล้ว

มาตรา ๘๐ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติของนายหน้าประกันชีวิต นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกให้นายหน้าประกันชีวิตมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งสมุดทะเบียน สมุดบัญชี หรือเอกสารใด ๆ หรือให้ส่งรายงานตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนดเพื่อตรวจสอบหรือจะเข้าไปในสำนักงานของบุคคลดังกล่าวในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบดังกล่าวก็ได้ ในการนี้นายหน้าประกันชีวิตต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๘๑ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต เมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่าตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต

(๑) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนหรือคณะกรรมการประกาศกำหนด

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๒ แล้วแต่กรณี

(๔) ดำเนินงานทำให้เกิดหรืออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน

เมื่อนายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แจ้งคำสั่งนั้นไปยังผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

มาตรา ๘๒ ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๘๑ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา ๘๓ ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวน แนะนำ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในต่างประเทศหรือกับบุคคลใด ๆ นอกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่นายหน้าประกันชีวิตซึ่งได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ทำสัญญาประกันต่อกับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในต่างประเทศ

หมวด ๔/๑

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย

มาตรา ๘๓/๑ รายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทต้องผ่านการรับรองโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

มาตรา ๘๓/๒ ผู้ใดจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๓/๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาทางคณิตศาสตร์ประกันภัยตามหลักสูตรหรือวิชาที่นายทะเบียนประกาศกำหนดจากสถาบันการศึกษาที่ ก.พ. รับรอง และปฏิบัติงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยที่นายทะเบียนประกาศกำหนดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือ

(๒) เป็นสมาชิกระดับเฟลโลของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

ประกาศของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๘๓/๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดตามมาตรา ๑๑๔/๑ หรือมาตรา ๑๑๔/๒ เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

(๒) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) อยู่ในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

(๕) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

มาตรา ๘๓/๕ ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอภายในกำหนดสองเดือนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ถือว่าผู้ยื่นคำขออยู่ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๓/๖ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องจัดทำรายงานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือรายงานการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์อื่นๆ ตามแบบและรายการที่นายทะเบียนประกาศกำหนด โดยนายทะเบียนจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

มาตรา ๘๓/๗ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๘๓/๘ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย

(๑) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๓/๖ หรือมาตรา ๘๓/๗

(๒) รับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยขาดความระมัดระวัง

การสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินครั้งละหนึ่งปี

มาตรา ๘๓/๙ นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย

(๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘๓/๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘๓/๔

(๒) เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตมาแล้วและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๘๓/๘ อีก

มาตรา ๘๓/๑๐  ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตามมาตรา ๘๓/๘ หรือมาตรา ๘๓/๙ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด


 

หมวด ๕

กองทุนประกันชีวิต

มาตรา ๘๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นเรียกว่า “กองทุนประกันชีวิต” มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา ๘๕ กองทุนประกอบด้วย

(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

(๒) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๕๒

(๓) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๕/๓

(๔) เงินเพิ่มที่ได้รับตามมาตรา ๘๕/๔

(๕) เงินค่าปรับตามมาตรา ๑๑๗ หลังจากหักเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว

(๖) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้มอบให้

(๗) ดอกผลหรือรายได้จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

(๘) เงินสนับสนุนจากรัฐบาล

มาตรา ๘๕/๑ กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๘๔ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ

(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

(๓) ให้บริษัทกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

(๔) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน

(๕) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา ๘๕/๒ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

(๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ  ทั้งนี้ ไม่เกินวงเงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๕ (๑) และ (๒)

(๓) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุน  ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด

มาตรา ๘๕/๓ ให้บริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน

หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งเงินเข้ากองทุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะประกาศลดอัตราหรืองดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้

มาตรา ๘๕/๔ บริษัทใดไม่นำเงินส่งเข้ากองทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๘๕/๓ ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนของจำนวนเงินที่บริษัทนั้นนำส่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน

ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ามีเหตุสุดวิสัยทำให้บริษัทไม่สามารถนำเงินส่งเข้ากองทุนได้ตามที่กำหนดในมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๘๕/๓ และบริษัทได้นำเงินส่งเข้ากองทุนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ครบกำหนด เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละหนึ่ง

ในระหว่างที่บริษัทไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนหรือไม่ชำระเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งห้ามบริษัทนั้นดำเนินการขยายธุรกิจ  ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจะนำเงินส่งเข้ากองทุนและชำระเงินเพิ่มให้ถูกต้องและครบถ้วน และนายทะเบียนได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทดำเนินการขยายธุรกิจ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๘๕/๕ ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตและจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๖ มีไม่เพียงพอ ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน

จำนวนเงินที่เจ้าหนี้แต่ละรายมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๖ แล้ว ต้องไม่เกินมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย หากมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยทุกสัญญารวมกันมีจำนวนเกินหนึ่งล้านบาท ก็ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงหนึ่งล้านบาท

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงิน และมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๕/๖ เพื่อความเป็นธรรม คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะประกาศกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๕/๕ วรรคสอง เป็นการทั่วไป หรือเป็นการเฉพาะแก่สัญญาประกันชีวิตประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้

มาตรา ๘๕/๗ ให้กองทุนเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยเท่ากับจำนวนเงินที่กองทุนได้จ่ายไป และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในเงินจำนวนนั้นจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ชำระบัญชี แล้วแต่กรณี โดยมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้สามัญของบริษัทนั้นทั้งหมด

มาตรา ๘๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุน” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทยจำนวนสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ

ให้ผู้จัดการเป็นเลขานุการ

มาตรา ๘๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งเข้ารับหน้าที่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา ๘๖/๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๗) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มาตรา ๘๖/๓ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศในการบริหารกิจการของกองทุน

(๒) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน

(๓) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้และการอนุมัติชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย

(๔) กำหนดอัตราและระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินของกองทุนในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้บริษัทกู้ยืมเงินตามมาตรา ๘๕/๑ (๓)

(๖) กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนตามมาตรา ๘๕/๒ (๓)

(๗) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้จัดการ

(๘) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือเกี่ยวเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน

การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการบริหารกองทุนอาจขอให้นายทะเบียน บริษัท หรือบุคคลใดมาชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา ๘๖/๔ การประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๘๖/๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมายได้

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๘๖/๔ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา ๘๖/๖ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการของคณะกรรมการบริหารกองทุนได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๘๗ ให้กองทุนมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนแต่งตั้ง

การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงานในหน้าที่ผู้จัดการ ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนดโดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้างแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

การทำสัญญาจ้างผู้จัดการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนามของกองทุน

ให้ผู้จัดการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด

มาตรา ๘๗/๑ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์

(๓) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา

มาตรา ๘๗/๒ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘๗/๑ แล้ว ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

(๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๓) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

(๔) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(๕) ดำรงตำแหน่งอื่นใดในนิติบุคคลที่มีการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับกองทุน

(๖) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมายให้เป็นกรรมการในบริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้น

มาตรา ๘๗/๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามอายุการจ้าง ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘๗/๑ หรือมาตรา ๘๗/๒

(๔) คณะกรรมการบริหารกองทุนมีมติเห็นสมควรให้เลิกจ้าง

มาตรา ๘๗/๔ ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของกองทุน การปฏิบัติงานของผู้จัดการและการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทน ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด

นิติกรรมหรือการใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการบริหารกองทุนจะให้สัตยาบัน

มาตรา ๘๘ ให้กองทุนวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีตามหลักสากล มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ

(๑) การรับและจ่ายเงิน

(๒) สินทรัพย์และหนี้สินซึ่งแสดงการเงินที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น

มาตรา ๘๘/๑ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน

มาตรา ๘๘/๒ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการและรัฐมนตรีด้วย


 

หมวด ๖

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๘๙ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคห้า มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๑ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๗ วรรคสี่ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง หรือเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๓๓ (๙) วรรคสอง หรือมาตรา ๓๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และถ้าเป็นกรณีกระทำความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๙๐ บริษัทใดไม่ตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่แจ้งผู้ถือหุ้นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๙๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๙๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๙๓ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ หรือไม่วางเงินสำรองตามมาตรา ๒๔ หรือไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาทและถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๙๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

มาตรา ๙๔/๑ บริษัทใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคห้า มาตรา ๒๗/๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๗/๓ มาตรา ๒๗/๔ หรือมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๙๕  บริษัทใดออกกรมธรรม์ประกันภัย หรือเอกสารประกอบ หรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท

มาตรา ๙๖  บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

มาตรา ๙๗ บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๙๘ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗/๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๔๕ หรือคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๖/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๙๙ บริษัทใดไม่ยอมให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูสมุดทะเบียนหรือไม่ยอมคัดสำเนารายการให้ตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา ๑๐๐ บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการหรือให้คำชี้แจงตามมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๑๐๑ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๔๘ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๒ บริษัทใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๑๐๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ วรรคห้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๖ ตัวแทนประกันชีวิตผู้ใดทำสัญญาประกันชีวิตโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา ๗๑ วรรคสอง หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทผู้ใดรับเบี้ยประกันภัยโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา ๗๑ วรรคสามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๖/๑ ตัวแทนประกันชีวิตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๐/๑ วรรคสองหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๖/๒ นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑/๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐๗ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่มีสำนักงานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต หรือตามที่ได้แจ้งการย้ายสำนักงานไว้ต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๗๔  ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท

มาตรา ๑๐๘ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดย้ายสำนักงานโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๑๐๙ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง หรือไม่ลงรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๑๑๐ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

มาตรา ๑๑๑ นายหน้าประกันชีวิตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งเรียกตามมาตรา ๘๐  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๘๐  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑๔ ในกรณีที่บริษัทใดจงใจกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง หรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งหรือให้ทำคำชี้แจงตามมาตรา ๔๕ กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย

มาตรา ๑๑๔/๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๓/๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑๔/๒ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้ใดทำคำรับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือจัดทำรายงานหรือเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๑๕ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๑๕ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ในการดำเนินงานของบริษัท กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในบริษัทกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามบทบัญญัติในหมวด ๑ หมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ หรือหมวด ๗ ของลักษณะ ๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ หรือมาตรา ๒๑๕ หรือมาตรา ๒๑๖ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕

(๒) ในการสอบบัญชีของบริษัท ผู้สอบบัญชีผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙

(๓) ผู้ใดเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (๑) หรือ (๒)

ให้ถือว่ากรมการประกันภัยเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในความผิดตามมาตรานี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคา หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้ได้รับความเสียหายด้วย ในการนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๑๖ ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๕ และกรมการประกันภัยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนให้กรมการประกันภัยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่าหกเดือนไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหกเดือน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของกรมการประกันภัยก็ได้

ให้กรมการประกันภัยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการประกันภัย เป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง

การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร เมื่อกรมการประกันภัยร้องขอ ให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เมื่ออธิบดีกรมการประกันภัยหรือบุคคลที่อธิบดีกรมการประกันภัยมอบหมายแจ้งให้อธิบดีกรมตำรวจทราบ ให้อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญาหรือของอธิบดีกรมตำรวจที่สั่งตามวรรคสี่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

มาตรา ๑๑๗ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ยกเว้นมาตรา ๙๑ และมาตรา ๑๑๖ ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนและคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

มาตรา ๑๑๗/๑ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา ๑๑๗ ภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา ๑๑๗/๒ ในกรณีที่บริษัท ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้ใด กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีอำนาจประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามดังกล่าว โดยระบุรายละเอียดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรวมทั้งระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๑๑๘ ให้ถือว่าบรรดาบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าสาขาของบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสาขาของบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการอนุญาต

มาตรา ๑๑๙ บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ บริษัทใดได้ออกหุ้นไว้แล้วโดยไม่เป็นไปตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้บริษัทนั้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๒๐ บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ บริษัทใดมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ให้คงมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยในอัตราที่เป็นอยู่ได้ต่อไป

มาตรา ๑๒๑ ให้บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ที่มีสำนักงานแยกออกจากสำนักงานใหญ่และประกอบการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ยื่นขอรับอนุญาตเป็นสาขาให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือเลิกสำนักงานนั้นเสีย  ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และภายในระยะเวลาดังกล่าวมิให้ถือว่าบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ฝ่าฝืนมาตรา ๑๗

มาตรา ๑๒๒ ให้บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ วางหลักทรัพย์ประกันให้ถูกต้องตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงออกตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๒๓ ให้บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ จัดให้มีการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๒๔ มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ได้มาหรือมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และต้องจำหน่ายไปตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าปีนับแต่วันที่เลิกใช้หรือวันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ได้มาหรือมีอยู่ก่อนวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๑๐

มาตรา ๑๒๕ มิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่ผู้ที่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ อยู่แล้วโดยชอบก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๒๖ เงินที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือทายาทของผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งสิทธิเรียกร้องเงินนั้นขาดอายุความแล้วและอยู่ในครอบครองของบริษัทในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทตรวจสอบและนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำความในมาตรา ๘๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๒๗ บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ บริษัทใดได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทนั้นประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามใบอนุญาตนั้นต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(๑) หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทต้องวางไว้กับนายทะเบียนและเงินกองทุนที่บริษัทดำรงไว้ตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ต้องเป็นหลักทรัพย์ประกันและเงินกองทุนต่างหากจากหลักทรัพย์ประกันและเงินกองทุนที่บริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ต้องวางและดำรงไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

(๒) ต้องแยกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันวินาศภัยออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันชีวิต

(๓) ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ารัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ นั้นด้วย

ให้บริษัทตามวรรคหนึ่ง จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย โดยรับโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ เป็นของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นให้แล้วเสร็จภายในแปดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหรือปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรานี้ ให้ถือว่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ นั้นเป็นอันสิ้นอายุ

มาตรา ๑๒๘ ในกรณีที่มีเหตุผลอันจำเป็น ให้รัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ และมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อบริษัทตามมาตรา ๑๑๘ ร้องขอโดยแสดงเหตุผลอันจำเป็นให้ปรากฏ แต่ระยะเวลาที่ขยายให้ดังกล่าวต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ และมาตรา ๑๒๓

มาตรา ๑๒๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๓๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ ในขณะเดียวกันแจ้งการเลิกกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งต่อนายทะเบียนภายในสองเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อพ้นระยะดังกล่าวหากผู้ใดมิได้แจ้งการบอกเลิกการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งต่อนายทะเบียน ให้ถือว่าใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตของผู้นั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลาให้แจ้งการบอกเลิกดังกล่าว

มาตรา ๑๓๑ ให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขในการอนุญาตที่ออกหรือกำหนดซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

 
QR CODE Facebook
Twitter
Since 19.10.09
You are here: Home ติวสอบตัวแทน พระราชบัญญัติประกันชีวิต