SUPREME 24

   
ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ
  บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต โดย คุณรุ่งนภา สดงาม
สนใจร่วมกับทีมงานตัวแทนประกันชีวิต มืออาชีพ บริหารงานโดย คุณรุ่งนภา โทร. 086-3341466

คนไทย 11 ล.เผชิญความดันฯ สูง สธ.เผยตาย ชม.ละ 5 ราย

          จากประสบการณ์การเป็นตัวแทนมาสักระยะหนึ่ง พบลูกค้ามากมาย หลากหลายประเภท อาชีพ แต่มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งซึ่งอยากทำประกันชีวิตมาก แต่ก็เสี่ยงเกินกว่าที่บริษัทจะรับประกัน นั้นคือลูกค้าที่มีปัญหาสุขภาพ เป็นความดันสูง ซึ่งภาวะของโรคนี้บริษัทประกันส่วนใหญ่ก็จะไม่รับ ลูกค้าที่รู้ตัวเองว่ามีภาวะนี้จะเป็นห่วงครอบครัว คนข้างหลัง และนึกเสียดายโอกาสที่ไม่ได้ทำประกันไว้ตั้งแต่ตอนสุขภาพดี เว็บไซต์ออมสินดอทเน็ตจึงอยากนำข่าวสารเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงมาได้อ่านกัน อย่างน้อยรู้ไว้ใช่เสียหายนะค่ะ...

คนไทย 11 ล.เผชิญความดันฯ สูง สธ.เผยตาย ชม.ละ 5 ราย 

       สธ.พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 11 ล้านคน กำลังเผชิญโรคความดันโลหิตสูง เสียชีวิตชั่วโมงละ 5 ราย ชี้โรคนี้ไม่มียารักษาหายขาด เตือนผู้ที่ยังไม่เป็นโรคให้ตรวจวัดความดันโลหิตทุกปี ลดกินอาหารเค็มจัด มันจัด ออกกำลังกาย หากมีอาการ “ปวดหัว เวียนหัว มึนงง เหนื่อยง่าย ตามัว หรือแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ” ควรรีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
      
       นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 17 พฤษภาคม ทุกปี สมาพันธ์โรคความดันโลหิตสูงโลก กำหนดให้เป็นวันโรคความดันโลหิตสูงโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันโรคความดันโลหิตสูงซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็นเพชฌฆาตเงียบ (Silent killer) เพราะโรคจะก่อตัวขึ้นทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่แสดงอาการเหมือนการติดเชื้อโรค ทำให้เป็นโรคโดยไม่รู้ตัว เมื่อป่วยแล้วไม่มียารักษาหายขาด ขณะนี้คนทั่วโลกเป็นโรคความดันโลหิตสูง คือสูงกว่าระดับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ประมาณ 1,000 ล้านคน คาดอีก 17 ปี จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มเป็น 1,600 ล้านคน
      
       ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจสุขภาพครั้งล่าสุดในปี 2547 พบประชาชนที่มีอายุ 15 ขึ้นไปที่มีประมาณ 51 ล้านคน มีความดันโลหิตสูงเฉลี่ยร้อยละ 22 หรือมีประมาณ 11 ล้านคน กล่าวได้ว่า พบคนมีความดันโลหิตสูงได้ 1 คนในเกือบทุกๆ 5 คน กลุ่มที่ตรวจพบนี้ร้อยละ 71 ไม่เคยตรวจวัดความดันโลหิตมาก่อน และในผู้ที่เป็นโรคนี้มีการดูแลตัวเอง ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ระดับปกติไม่ถึงร้อยละ 20
      
       นพ.สุพรรณ กล่าวว่า โรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีผลทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง มีผลร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญ คือ ไต หัวใจ สมอง โดยมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวาย ถึงร้อยละ 60-75 เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย มีโอกาสเสียชีวิตจากเส้นเลือดสมองแตกหรืออุดตันร้อยละ 20-30 และมีโอกาสเสียชีวิตจากไตวายร้อยละ 5-10 ส่วนคนที่รอดชีวิตจะมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนที่ความดันโลหิตปกติถึง 5 เท่า เนื่องจากเนื้อสมองตาย โดยมีคนไทยเสียชีวิตจากผลพวงของโรคความดันโลหิตสูงปีละ 48,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ราย และมีคนไทยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ประมาณ 250,000 คน
      
       ในการป้องกันโรคนี้ ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันโลหิตทุกปี และสังเกตอาการผิดปกติในร่างกาย โดยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าอาจเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่พบบ่อยได้แก่ ปวด วิงเวียนศีรษะ มึนงง ตาพร่ามัว เหนื่อยง่ายผิดปกติ หรือแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ หากมีอาการเหล่านี้ ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการตรวจและการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาภายหลัง นายแพทย์สุพรรณกล่าว
      
       กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่กินอาหารรสเค็ม คือกินเกลือแกงมากกว่าวันละ 6 กรัมต่อวัน กินผักผลไม้น้อย ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ไม่ออกกำลังกาย หรือผู้ที่มีความเครียดเรื้อรัง คนอ้วน สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้แล้ว ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาควบคุมอาการ ซึ่งมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่า โรคนี้รักษาหายขาด พอกินยาจนความดันโลหิตเป็นปกติแล้วก็เลิกกินยา ทำให้โรคกำเริบรุนแรงขึ้น เกิดปัญหาแทรกซ้อน อาการรุนแรงขั้นเสียชีวิตได้

ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2551

back_icon.png
 
QR CODE Facebook
Twitter
Since 19.10.09
You are here: Home อาชีพตัวแทนประกันชีวิต เรื่องเล่าจากตัวแทน คนไทย 11 ล.เผชิญความดันฯ สูง สธ.เผยตาย ชม.ละ 5 ราย