วิกฤตศรัทธา "ตัวแทน"

Print

ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก!
          ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตพุ่งทะยานไม่หยุดยั้งในแต่ละปี แม้กระทั่งใน โมงยามที่เกิดวิกฤติเศรษกิจ ประกันชีวิตก็ยังสามารถฝ่าวิกฤติมาได้ด้วยตัวเลขการเติบโตเป็นบวก กระทั่งในช่วงปลายปี 2551 ที่ทั่วโลกคุกรุ่นไปด้วยปัญหาวิกฤติการเงิน ทำให้ยักษ์ประกันภัยในอเมริกา และยุโรปหลายรายต้องซวดเซไปตามๆ กัน แต่ธุรกิจประกันชีวิตไทยกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้น้อยมาก สะท้อนได้จากตัวเลขการเติบโตที่ยังบวกต่อเนื่องจนถึงปีที่ผ่านมาที่ว่ากันว่ายังอยู่ในช่วงของอาฟเตอร์ช็อก จึงทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่ง ในธุรกิจที่เติบโต “สวนกระแส” เศรษฐกิจ

          แต่ขณะที่ตัวเลขเบี้ย และการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขหนึ่งที่ธุรกิจประกันชีวิตพยายามที่จะผลักดันมานานให้เติบโต ใน ตัวเลขที่สูงเทียบเท่ากับปริมาณเบี้ย คือ “การถือครองกรมธรรม์” ของคนไทย ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 25% เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นที่การถือครองกรมธรรม์สูงลิ่วเกิน 200% เช่นเดียวกับไต้หวัน และเกาหลีใต้ที่ตัวเลขก็เกิน 100% เช่นกัน หรือจะเป็นประเทศใกล้ๆ อย่าง มาเลเซียที่สูงเกือบ 100%
          เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ธุรกิจประกันชีวิตไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เร่งหาทาง ผลักดันให้ตัวเลขสูงขึ้น ด้วยการพยายามที่จะให้คนไทยได้เข้าถึงการประกันภัย ในทุกระดับ โดยเฉพาะในหน่วยเล็กๆ ของประเทศ เพื่อสร้างฐาน “การรับรู้” และเกิด “ความเข้าใจ” ในเรื่องของการประกันเพื่อนำไปสู่หน่วยใหญ่จนกระจายไปทั่วประเทศในที่สุด อันเป็นที่มาของโครงการ “ไมโคร อินชัวรันส์”
          และการที่จะเข้าถึงคนในระดับหมู่บ้าน-ชุมชน-ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องอาศัยคนที่ “น่าเชื่อถือ” ในหมู่บ้าน ชุมชน หรือตำบลนั้นๆ ในการเป็น “ตัวแทน” ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็น “บุคลากร” ที่เหมาะสมต่อการที่จะทำให้ไมโครอินชัวรันส์ “แจ้งเกิด”ได้ตามเป้าหมาย
          เห็นภาพของการทำความเชื่อมั่นเชื่อถือของคนในชุมชน มาเป็นหลักในการทำตลาดไมโครอินชัวรันส์แล้ว ก็ต้องวกกลับมาตลาดในเมืองใหญ่ เพราะจากผลสำรวจของนิตยสาร “รีดเดอร์ส ไดเจสท์” สรรสาระ ซึ่งได้สำรวจความเชื่อมั่นของคนไทยต่อบุคคล และสาขาอาชีพ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งที่น่าสนใจ คือ การสำรวจอาชีพที่คนไทยให้ความเชื่อมั่นมากที่สุดใน 40 อาชีพ ปรากฏว่า อาชีพ “ตัวแทนขายประกัน” อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ได้รับความเชื่อมั่น “น้อยที่สุด” โดยเป็นอาชีพที่ติดอยู่ในกลุ่ม 5 อาชีพสุดท้ายใน 40 อาชีพนั้น ซึ่งผลสำรวจระบุว่า อาชีพที่ได้รับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด ได้แก่ นักการเมือง (ติดอันดับสุดท้าย คือ 40) รองลงมาเป็น หมอดู/ นักโหราศาสตร์ (ติดอันดับ 39), “ตัวแทนขายประกัน (อันดับที่ 38)”, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง (อันดับที่ 37) และคนขับรถแท็กซี่ (อันดับ36) ส่วนผลคะแนนเป็นเท่าไรนั้น ลองหารายละเอียดอ่านได้ในบทความ “บุคคลที่เราเชื่อมั่นแห่งปี 2553” ในนิตยสารฉบับเดือนมีนาคม 2553 ได้
          ผลสำรวจที่ออกมานี้ ทำเอาต้องกลับมาพิจารณาถึง “ช่องทางการขาย” ของ ธุรกิจประกันชีวิตในวันนี้ ในยุคที่แม้จะมีความ “หลากหลาย” แต่ตัวแทนประกันชีวิตยังเป็น “ช่องทางขายหลัก” แต่กลับยังไม่ได้ความเชื่อมั่นเท่ากับอีกหลายๆ อาชีพ เป็น “ความจริง” ที่เจ็บปวด และไม่แปลกใจที่ช่องทางการขายอื่นจะ “เบียดแซง” ช่องทางขายหลักอย่างทุกวันนี้ เพราะสะท้อนให้เห็นแล้วว่าส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากการแข่งขันในเรื่องของช่องทางขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากคนในอาชีพเองด้วย
          ถึงเวลาแล้วที่ต้องกู้ “วิกฤติศรัทธา” ในอาชีพตัวแทนให้เดินทันตามการเติบโตของเบี้ย ไม่ใช่แค่ตัวแทนคนใดคนหนึ่ง หรือส่วนหนึ่ง แต่ต้องทั้ง 300,000 กว่าคนในระบบ ต้องพร้อมใจกันที่จะยกระดับตัวเองให้เทียบกับอาชีพอื่นให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่บริษัทประกันชีวิตทุกแห่งพร้อมให้การสนับสนุนมือทองของตัวเองอยู่แล้ว

ที่มา : www.siamturakij.com